NTT Data

NTT DATA จับมือ ม.บูรพา ปั้นโปรแกรมเมอร์ COBOL ป้อนตลาดต้องการสูง

NTT DATA จับมือ ม.บูรพา นำร่องเร่งบ่มเพาะบุคลากร COBOL ป้อนเข้าตลาด หลังเริ่มประสบปัญหาขาดแคลน เผยกว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ยังใช้ภาษา COBOL 

บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครือบริษัท เอ็นทีที เดต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจดิจิทัลและบริการด้านไอทีชั้นนำระดับโลก ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา คลอดโครงการ NTT DATA Critical Resource Preparation เดินหน้าสร้างบุคลากรไอทีคุณภาพป้อนตลาดงาน นำร่องเร่งบ่มเพาะบุคลากร COBOL ป้อนเข้าตลาด หลังเริ่มประสบปัญหาขาดแคลน เผยกว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ยังใช้ภาษา COBOL โดยเฉพาะอุตสาหกรรมธนาคารและการเงิน ประกัน กองทุน โรงแรม โรงพยาบาล ที่มีการขยายธุรกิจต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวน COBOL Programmer ที่เริ่มขาดแคลนมีจำนวนลดลง เผยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลกมีอายุเฉลี่ย 55 ปี และมีเพียง 30% มหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เปิดสอนหลักสูตร เล็งสนับสนุนพัฒนาด้านไอทีด้านอื่นป้อนตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต

NTT DATA COBOL 

นายโคทาโร่ โอชิโอะ กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนร่วมลงนามความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินโครงการ NTT DATA Critical Resource Preparation โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความพร้อมให้กับนักศึกษาเข้าสู่ตลาดงานและสร้างแรงงานคุณภาพด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทย 

โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ภายใต้โครงการ IBM Academic Initiative ในการพัฒนาความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับ COBOL Programming, ระบบเมนเฟรมและไฮบริดคลาวด์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ผ่านการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดภาคเรียน การจัดอบรมให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณาจารย์ รวมถึงมอบเครดิตการใช้คลาวด์ฟรีเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าไปทดลองใช้ระบบจริงแบบเดียวกับที่ใช้ในโลกธุรกิจ

ทั้งนี้ เอ็นทีที เดต้า จะเข้าไปทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนให้กับทางอาจารย์ ทั้งในด้านการตอบคำถามด้านเทคนิค รวมถึงความรู้เพิ่มเติมในด้านของภาษา COBOL เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนจบหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับ เอ็นทีที เดต้า ช่วงฝึกงาน รวมไปถึงเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าสู่ตลาดงานอย่างเต็มรูปแบบ 

อย่างไรก็ดีปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยเองกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนบุคลากร COBOL Programmer  เนื่องจากการใช้งานภาษา COBOL ในการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Mainframe) ยังมีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูง และข้อมูล Tech channel พบว่า 70% ขององค์กรขนาดใหญ่ ยังคงใช้งานระบบด้วยภาษา COBOL 

และธนาคารชั้นนําของโลก 45 ใน 50 แห่งยังใช้ COBOL ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมผ่านการรูดบัตร ATM ระบบจะรันเข้าสู่ศูนย์กลางด้วยภาษา COBOL 95% ของเวลาทั้งหมด และในหลายอุตสาหกรรมยังทำงานระบบด้วยภาษา COBOL อยู่ โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเร่ิมต้นการสนับสนุนพัฒนาบุคลากรด้านไอทีที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ไปพร้อมกับการการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่สายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้

NTT DATA COBOL 

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก  อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยเพื่อสร้างแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดงานในประเทศและระดับโลก

โดยเฉพาะบุคลากรด้าน COBOL Programmer ที่กำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนทั่วโลกปัจจุบันคือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลกมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี และมีเพียงมหาวิทยาลัย 30% ทั่วโลกที่ยังคงบรรจุวิชาภาษา COBOL ไว้ในหลักสูตร ในประเทศไทยเองพบว่า หลายมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีการหลักสูตรภาษา COBOL หรือบางมหาลัยเป็นเพียงวิชาเลือก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร

“แม้ภาษา COBOL (Common Business Oriented Language) จะเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงที่ใช้งานมานานกว่า 60 ปี แต่ก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับธุรกิจอุตสาหกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารและการเงิน ประกันสังคม กองทุนรวม โรงแรม และโรงพยาบาล ที่เน้นใช้งานในระบบประมวลผลหลัก (Core system) 

ซึ่งต้องรองรับปริมาณงานในจำนวนมาก และ ประมวลผลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว  โดยใช้ระบบในการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Mainframe) ประมวลผลธุรกรรมของแต่ละธุรกิจ ส่งผลให้ความต้องการ COBOL Programmer เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก สวนทางกับจำนวนบุคลากร COBOL Programmer ที่มีจำนวนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง”