AIS เผย ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2565 ทำรายได้รวมอยู่ที่ 45,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับปีก่อน ดันผู้ใช้งาน 5G รวม 3.9 ล้านราย เติบโตกว่า 39% และมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมทะลุ ที่ 45.5 ล้านเลขหมาย เป็นผลมาจากภาพรวมของการดำเนินธุรกิจเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางด้านแผนการทำงานช่วงครึ่งปีหลัง AIS ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 30,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ให้มีคุณภาพเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่า พร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อน Digital Economy หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ฟื้นฟูประเทศ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งปีแรกแม้เราจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในภาพใหญ่สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความน่าเป็นห่วง และต้องจับตามองใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ส่งผลทำให้ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น แน่นอนว่าส่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในวงกว้าง ทำให้เราต้องปรับแผนการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในครึ่งปีแรกนี้ AIS สามารถทำผลงานออกมาได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากตัวเลขรายได้ที่มีการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเรายังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้มีความแข็งแกร่งรองรับความต้องการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในองค์กร และสร้างประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้แก่ลูกค้าที่กำลังเพิ่มขึ้น”
สำหรับ ผลประกอบการไตรมาส ที่ 2 ปี 2565 ของ AIS อยู่ที่ 45,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับปีก่อน และคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 6,305 ล้านบาท ลดลง 10% เทียบกับปีก่อน ค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและรายได้พิเศษครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา
จากการลงทุนเพื่อพัฒนาและขยายโครงข่าย 5G และ 4G อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการ รวมถึงการเสริมคอนเทนต์ชั้นนำระดับโลกมาให้คนไทยได้สัมผัสกับประสบการณ์รับชมใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลทำให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับปีก่อน และ 0.4% เทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดและการบริหาร โดยรวมเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการตลาดในการออกแคมเปญต่างๆ ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) สำหรับไตรมาส 2 อยู่ที่ 22,353 ล้านบาท ลดลง 2.8% จากปีก่อน และ 0.2% เทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้
- ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 และการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวชาติจากการเปิดประเทศ แม้ว่าการแข่งขันด้านราคายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 881,200 เลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมที่ 45.5 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 33.4 ล้านเลขหมาย และระบบรายเดือน 12.1 ล้านเลขหมาย ในส่วนของ 5G วันนี้ AIS มีผู้ใช้บริการ 5G รวมทั้งสิ้นมากกว่า 3.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 39% ทำให้ AIS ยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้วยการพัฒนาโครงข่าย ที่มีความครอบคลุมกว่า 99% ในกรุงเทพฯ 96% ในพื้นที่ EEC และ 81% ของพื้นที่ประชากรทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มความครอบคลุมและความจุโครงข่ายให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ 5G ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตที่เหนืออุตสาหกรรม มีรายได้เติบโต 22% เทียบกับปีก่อน และ 2.0% จากไตรมาสก่อน จากการเพิ่มพื้นที่การให้บริการไปยังพื้นที่ใหม่ๆ รวมไปถึงการรักษาคุณภาพและความรวดเร็วของการให้บริการ AIS Fibre 24Hours และการนำเทคโนโลยี Wi-Fi อัจฉริยะ ครั้งแรกในไทยกับการนำ AI และ VIP Service มาจัดสรรการใช้งานเน็ตบ้าน ตอบโจทย์การใช้งานลูกค้าในเรื่องความแรง ลดความหน่วงต่ำ ซึ่งในไตรมาส 2/2565 มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 106,300 ราย ปัจจุบัน AIS Fibre มีลูกค้ารวม 1,971,400 ราย ตั้งเป้าขยายลูกค้า 2.2 ล้านราย ภายในสิ้นปี
- ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร รายได้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็น 38% เทียบกับปีก่อน และ 5.5% จากไตรมาสก่อน โดย AIS ได้เข้าไปร่วมทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีโซลูชันเข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการประกาศความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและการทดสอบเทคโนโลยี 5G แห่งแรกในประเทศไทย AIS 5G NEXTGen Center ที่ Thailand Digital Valley บนพื้นที่ EEC รวมถึงเปิดตัว AIS 5G NEXTGen Platform สำหรับการพัฒนา 5G Use Cases แห่งแรกของไทย พร้อมร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับโลกต่อเนื่อง เพื่อนำเอาโซลูชันและบริการใหม่ๆ อย่าง CCIID (Cloud,Cyber security,IoT,ICT,Data Center) ที่ทุกอุตสาหกรรมต่างตื่นตัวที่จะนำมาประยุกต์ใช้ และล่าสุดกับการคว้ารางวัล Microsoft Thailand Partner of the Year Award 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่ไมโครซอฟท์มอบให้กับพันธมิตรที่สามารถส่งมอบบริการที่เหนือกว่าในด้านนวัตกรรมให้กับลูกค้าโดยอาศัยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ตอกย้ำเป้าหมายการนำศักยภาพโครงข่ายเข้าเชื่อมต่อการทำงานกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถทรานสฟอร์มองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสมชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งความเคลื่อนไหวของการเมืองระดับประเทศที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้แต่ความรุนแรงของการแข่งขันที่จะมีเพิ่มสูงขึ้น แต่แน่นอนว่าเรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบกว่า 30,000 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมีความแข็งแรงพร้อมต่อการเติบโตในอนาคตที่จะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน Digital Economy รองรับบริการครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กรในภาคธุรกิจ ที่สอดรับกับเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co ที่มุ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกค้า สามารถสร้างบริการแบบ Personalization ได้อย่างสอดคล้องกับทุกความต้องการ อีกทั้งยังต้องรวดเร็วและตอบสนองในระดับ Real Time ได้อย่างดีที่สุด”