HUAWEI ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT จัดงานสัมมนา Thailand Talent Talk ย้ำจุดยืนเรื่อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและหาทางออกเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลในไทย
HUAWEI ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา Thailand Talent Talk Episode 2 ชูความสำคัญเรื่อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในประเทศไทย ดึงตัวผู้นำองค์กรและสมาคมต่าง ๆ ในระดับประเทศเพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันด้านความปลอดภัยของข้อมูลในอนาคต เร่งสร้างบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ในไทยด้วยโครงการฝึกอบรมร่วมกับพาร์ทเนอร์ ตอกย้ำจุดยืนของหัวเว่ยที่มุ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์
นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ CSPO (Country Cyber Security & Privacy Officer) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ภายในงานสัมมนา “Thailand Talent Talk Episode 2: Building Talent Foundation for an Open, Transparent, and Collaborative Cyber Space” ว่า “ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่มีความน่าเชื่อถือและผู้สนับสนุนคุณค่าทางสังคม หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างพื้นที่ทางไซเบอร์ที่เปิดกว้างและร่วมมือร่วมใจไปพร้อมกับเหล่าพาร์ทเนอร์ โดยปัจจุบันนี้ ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเรื่องการขาดบุคลากรด้านไซเบอร์ในโลกดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ดังนั้น หัวเว่ยจะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านการโปรโมทการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent และการพัฒนาเทคโนโลยีให้ครอบคลุมเทรนด์โลก ได้แก่ 5G คลาวด์ อุปกรณ์มือถือ และทักษะความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการถ่ายทอดองค์ความรู้”
เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวเว่ยหวังว่าจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในโครงการสร้าง “ประเทศที่ปลอดภัย” ด้วยการผลักดันโครงการฝึกอบรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยั่งยืน ครอบคลุมใน 4 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับเริ่มต้น ระดับสูง และระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหัวเว่ยจะสนับสนุนโครงการฝึกอบรมผ่านแพลตฟอร์มระดับโลกที่ชื่อว่า “Huawei E-Lab” โดยเป้าหมายของแพลตฟอร์มดังกล่าวคือ การช่วยเพิ่มทักษะทางไซเบอร์ด้วยหลักสูตรเวิร์กช็อป แบบฝึกหัด และโปรแกรมจำลองสถานการณ์ด้านความปลอดภัยของเครือข่าย
ด้านพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า “จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ภารกิจหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและเร่งด่วนของ สกมช. คือการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่ง สกมช. มีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากร ประกอบด้วย การสร้างทักษะ ขีดความสามารถ และความรู้ความเข้าใจ ของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ อีกทั้ง การเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทัดเทียมในระดับสากล”
นางสาวกนกอร ฉวาง ผู้อำนวยการส่วนการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้ข้อมูลว่าหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ได้ดำเนินการตาม พรบ.ความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ใน 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1) จัดตั้งศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ด้านโทรคมนาคม (TTC CERT) 2) กำหนดให้มีหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure : CII) ด้านโทรคมนาคม และ 3) อยู่ระหว่างทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับ CII ด้านโทรคมนาคม โดยจะมุ่งยกระดับการกำกับกิจการโทรคมนาคมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและสากล
นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า “เยาวชนถือเป็นต้นทุนของประเทศไทย พวกเขาคืออนาคตของประเทศและพลังขับเคลื่อนในปัจจุบัน ในขณะที่เด็ก ๆ ในประเทศไทยได้รับโอกาสด้านการเรียนรู้และโอกาสทางสังคมมากขึ้น จากการเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น แต่พวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่จากสื่อออนไลน์ที่แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (OCSEA) รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นการมีมาตรการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยปกป้องเยาวชนจากภัยเหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาปลอดภัยในโลกออนไลน์”
ข้อมูลจากบริษัท Cybersecurity Ventures ระบุว่าความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ในปี พ.ศ. 2564 อาจมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานผ่านในโลกออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้ภาครัฐต้องออกกฎหมายและข้อบังคับใหม่ ๆ มาบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการปกป้องข้อมูลในยุคดิจิทัล โดยในภาคโทรคมนาคม อุตสาหกรรมไอซีทีและหน่วยงานผู้กำกับดูแลต่างพยายามวางมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกัน ในขณะที่บริษัทเอกชนอื่น ๆ ก็พยายามวางศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอค์กรของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
การร่วมมือจัดงานสัมมนา Thailand Talent Talk Episode 2 ระหว่างหัวเว่ยและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยในครั้งนี้เป็นไปเพื่อการเพิ่มองค์ความรู้และศักยภาพในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงเพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างในการพูดคุยถึงความท้าทาย หลักปฏิบัติ และแนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งตอกย้ำจุดยืนของหัวเว่ยในการส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเหล่านี้ โดยก่อนหน้านี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ได้รับรางวัล Prime Minister Awards ด้าน Thailand Cybersecurity Excellence Award 2022 ในประเทศไทย รวมทั้งได้ร่วมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ อาทิ ‘Thailand National Cyber Week’ และงานประชุม ‘Cyber Defence Initiative’ และได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) จัดการแข่งขันการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ ‘Thailand Cyber Top Talents 2021’ เป็นครั้งแรกในไทย โดยได้ฝึกอบรมบุคลากรและนักเรียน นักศึกษาด้านไอทีถึง 800 คน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com