สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Apple กำลังเผชิญกับคดีฟ้องร้องในศาลรัฐบาลกลางที่ซานฟรานซิสโกจากผู้หญิง 2 คนที่หนึ่งในนั้นอ้างว่าแฟนเก่าของเธอใช้อุปกรณ์ AirTag ติดไว้ที่ล้อรถของเธอเพื่อติดตามตัวเธอโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเธอก่อน
ตั้งแต่ Apple เปิดตัว AirTag เมื่อเดือนเมษายน 2021 อุปกรณ์นี้นอกจากจะมีประโยชน์ที่ใช้ติดตามสิ่งที่ต่างๆ เช่น กุญแจรถ กระเป๋าเงิน หรือสัตว์เลี้ยง แต่มันได้สร้างความกังวลให้กับผู้คนไม่น้อยในประเด็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมองว่าหากมันถูกนำไปใช้ติดตามในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้เพื่อติดตาม/สะกดรอยตามใครสักคน
ทั้งนี้ Apple ได้สร้างมาตรการป้องกันหลายอย่างเพื่อป้องกันการติดตามที่ไม่พึงประสงค์ แต่จากการฟ้องร้องในคดีที่กล่าวในข้างต้นนั้น การป้องกันของ Apple ดูจะ ” ไม่เพียงพอ ” ที่จะใช้เป็นข้อแก้ต่าง/หักล้างได้
คดีนี้ถูกนำมายื่นฟ้องเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามาตรการป้องกันที่ Apple มีอยู่ซึ่งหมายรวมถึงการแจ้งเตือนผู้ใช้ iPhone หากพบว่ามี AirTag ที่ไม่รู้จักกำลังติดตามพวกเขาอยู่นั้น … ไม่เพียงพออย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรียกว่ามาตรการป้องกันแล้วถือว่าเล็กน้อยมาก หากมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังถูกติดตามตัวจริงๆ
ส่วนผู้หญิงอีกคนในคดีเดียวกันกล่าวว่าสามีของเธอติด AirTag ไว้ในกระเป๋าเป้ของลูกเพื่อใช้ติดตามเธอ ทั้งนี้ ผู้หญิงทั้ง 2 คนได้เรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ได้ระบุจำนวนพร้อมกล่าวหาว่า Apple จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยออกมาให้ใช้จริง
ลองมาฟังความฝั่ง Apple กันบ้าง ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 Apple ได้จัดการกับความกังวลในประเด็นที่ AirTag อาจถูกนำไปใช้ในการติดตามที่ไม่พึงประสงค์ ยังมีการปล่อยการอัปเดตที่รวมถึงการปรับปรุงการตรวจจับอุปกรณ์ AirTag ที่ไม่รู้จัก การแจ้งเตือน AirTag ที่เสียงดังขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย
อุปกรณ์ AirTag ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ใช้ในการค้นหาสิ่งของส่วนตัวของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อติดตามบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น
เราขอประณามการใช้ผลิตภัณฑ์ของเราในทางที่ไม่ดี
Apple กล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021
ซึ่ง Apple เองตระหนักถึงปัญหาการถูกติดตามที่ไม่พึงประสงค์ จึงให้ความสำคัญในการแก้ไขความกังวลนี้อย่างจริงจังในการออกแบบ AirTag
คงต้องมาดูกันว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร และผลของคดีนี้จะส่งผลให้ Apple ออกมาตรการการป้องกันอะไรต่อจากนี้บ้าง
ที่มา : MacRumors