Garena ชูความสำเร็จ โครงการ “Gamer to Coder” ปั้นเยาวชนและประชาชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเขียนโปรแกรมรุ่นใหม่ พร้อมประกาศผลผู้ชนะ และมอบรางวัลทุนการศึกษากว่า 100,000 บาท
บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด (Garena) ประกาศความสำเร็จ “โครงการ Gamer to Coder โครงการนำร่องฝึกอบรมพัฒนาเกมเมอร์รุ่นใหม่ สู่การเป็นนักเขียนโปรแกรม” ที่ร่วมมือกับ “กระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อช่วยผลักดันเยาวชนและประชาชนคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่สังคมดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพในสังคมยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการเขียนโปรแกรม Coding ซึ่งมีนักเรียนระดับมัธยมปลายและอาชีวะจากทั่วประเทศไทยร่วมฝึกอบรมในโครงการฯ จำนวนมากถึง 680 ทีม หรือกว่า 1,500 คน โดยมีผู้ร่วมโครงการจำนวน 160 ทีมเข้าร่วมประกวดพัฒนาเว็บไซต์กิจกรรมแบบอินเตอร์แอคทีฟหลังจบการฝึกอบรม และทีมที่มีผลงานโดดเด่นจำนวน 10 ทีม ได้รับรางวัลและทุนการศึกษามูลค่ากว่า 100,000 บาท
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า “การร่วมมือกับ การีนาในโครงการ Gamer to Coder ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่เข้าร่วมล้วนมีความตั้งใจ มุมานะ ในการศึกษาหาความรู้จากโครงการนี้ จนสามารถสร้างผลงานได้น่าประทับใจ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นการจุดประกายให้เยาวชนและประชาชนทุกช่วงวัยเห็นความสำคัญในการเขียน Coding และพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็น Coder หรือนักเขียนโค้ดได้ในที่สุด ซึ่งจะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและขับเคลื่อนประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคตได้”
ทางด้าน ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “โครงการ Gamer to Coder เป็นโครงการนำร่อง ภายใต้แนวคิด “Unlock skill ใหม่ไปไกลทุก Level” ได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีนักเรียนจากทั่วประเทศกว่า 1,500 คน ให้ความสนใจและเข้าร่วมฝึกอบรม
ทั้งนี้ยังพบว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีทักษะการทำงานเป็นทีม มีวินัย มีความคิดที่เป็นระบบ และมีความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ของนักเรียนที่มีความสนใจร่วมกันมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรมอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันกลุ่มผู้ปกครองอยู่ในเจนเนอเรชันที่ใช้เทคโนโลยีเป็น ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และคุณครู ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนพัฒนาตัวเองด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
สำหรับหลักสูตรการเรียน Coding ในจำนวน 10 คลาส โดยแบ่งเป็นคลาสละ 3 ชั่วโมง ที่เปิดให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าจากทั่วประเทศ ได้ทำการรู้จักกับ Web Development, Gamification, User Experience design (UX/UI), เรียนภาษาและทักษะด้าน Coding อาทิ HTML, CSS, JavaScript, Restful API, Go Lang นอกจากได้รับความรู้ ยังได้รับแรงบันดาลใจและการถ่ายทอดประสบการณ์จากกูรูในวงการเกมและดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งผู้เชี่ยวชาญจากการีนาและแวดวงนักพัฒนาของประเทศไทย
เมื่อจบหลักสูตร ได้เปิดให้แต่ละทีมส่งผลงานเข้าแข่งขันด้วยการประยุกต์และต่อยอดจากการเรียน โดยมอบโจทย์ให้ผู้ร่วมโครงการสร้างสรรค์เว็บไซต์กิจกรรม ด้วยการประยุกต์ใช้ทรัพยากร (Digital Assets) บนเกมของการีนาซึ่งมีนักเรียนส่งผลงานเข้าแข่งขันกว่า 160 ทีม และมี 10 ทีมที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัลและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท
สำหรับทีมผู้ชนะรับรางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 40,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท ทั้งนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 7 รางวัล โดยได้รับทุนการศึกษารวมมูลค่า 28,000 บาท
โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือทีม “เจ๊พรสั่งลุย” จากโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล จังหวัดกระบี่ ได้เผยว่า “โครงการนี้นอกจากจะให้ความรู้ใหม่ ๆ ในการนำโค้ดไปใช้ในการพัฒนาออกแบบเว็บไซต์แล้ว ยังเป็นการเปิดโลกและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจในการนำความรู้ความสามารถเรื่อง Coding ไปสู่เส้นทางอาชีพในอนาคตได้หลากหลาย ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องสร้างเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำการเขียนโปรแกรมไปต่อยอดสร้างแอปพลิเคชัน หรือเกมต่าง ๆ ได้ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เพื่อขยายผลไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้”
“จากความสำเร็จโครงการฝึกอบรม Gamer to Coder ในครั้งนี้ ทางการีนาและกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการวางแผนในการสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ร่วมกันอีก เพื่อส่งเสริมต่อยอดโอกาสให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ ได้เติบโตไปกับการเขียน Coding และสายงานธุรกิจเกมในอนาคต เพราะการีนามีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็นให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นในสังคมยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป”
ดร. ศรุต กล่าวทิ้งท้าย