James Dyson Award 2023

James Dyson Award 2023 ครั้งที่สอง ของประเทศไทย เปิดรับสมัครแล้ววันนี้

กลับมาอีกครั้งกับการประกวดแข่งขันนวัตกรรม James Dyson Award 2023 ถือเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย หลังจากเปิดตัวเป็นครั้งแรกไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ยังคงคอนเซปต์การออกแบบเชิงวิศวกรรมที่มุ่งเป้าไปสู่ความยั่งยืนเช่นเดิม พร้อมเปิดโอกาสให้นักประดิษฐไทยรุ่นใหม่ ได้โชว์ฝีมือผ่านนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหารอบตัว เปิดรับสมัครผลงานแล้ววันที่ 1 มีนาคม 2566 นี้

สำหรับผู้ชนะระดับประเทศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 200,000บาท พร้อมโอกาสในการเข้ารอบการประกวดระดับนานาชาติ เงินรางวัลสูงถึง 1,200,000 บาท สามารถสมัครได้แล้ววันนี้ที่ jamesdysonaward.org

รางวัล James Dyson Award เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2548 และได้เปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ทั้งที่กำลังศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ ได้นำเสนอไอเดียที่สามารถแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบ ตั้งแต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจนไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ โดยเหล่าผู้ชนะจากการประกวดในปีที่ผ่านๆ มาต่างสามารถต่อยอดตัวต้นแบบที่ชนะรางวัลไปสู่นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ตั้งแต่ Plastic Scanner ผู้ชนะเลิศรางวัลด้านความยั่งยืนปี 2021 ที่สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไปสู่โซลูชันขั้นสูงสำหรับการรีไซเคิล MarinaTex ผู้ชนะรางวัลระดับประเทศจากสหราชอาณาจักร และ AuREUS ผู้ชนะเลิศรางวัลด้านความยั่งยืนปี 2020 ที่สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ รวมไปถึง Blue Box ผู้ชนะเลิศรางวัลระดับนานาชาติปี 2020 ที่กลายเป็นอุปกรณ์ตรวจมะเร็งเต้านมอย่างง่าย และ HOPES ผู้ชนะเลิศระดับนานาชาติปี 2021 ที่นำเสนออุปกรณ์ตรวจต้อหินที่สามารถทำได้เองที่บ้าน

โครงการระยะยาวนี้ได้มอบเงินรางวัลให้กับสิ่งประดิษฐ์ 390 ชิ้นตลอดการจัดประกวดที่ผ่านมา โดยกว่า 70% ของผู้ชนะในระดับนานาชาติสามารถนำผลงานไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามโลกของเรายังต้องการไอเดียที่สามารถแก้ไขปัญหา มีพลังในการเปลี่ยนโลกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการแพทย์ ตามความเชื่อของผู้ก่อตั้งมูลนิธิ James Dyson Foundation, Sir James Dyson ที่เชื่อว่าคำตอบและแรงขับเคลื่อนไปสู่โลกที่ดีกว่าอยู่ในตัวของคนรุ่นใหม่

James Dyson Award 2023

“เรามองหาวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีความุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้พลังงานและวัสดุน้อยลง รวมถึงมุ่งมั่นในการเปลี่ยนโลกด้วยไอเดียของพวกเขา ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีไอเดียที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปในทางที่ดีขึ้นได้ และพวกเขาควรได้รับการสนับสนุน การประกวด James Dyson Award สามารถมอบพื้นที่ให้เค้าได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์จากไอเดียของพวกเขา และผมจะตั้งตารอผู้เข้ารอบการประกวดในปีนี้ ขอให้ทุกคนโชคดี!”

เซอร์ James Dyson เป็นผู้คัดเลือกผู้ชนะในระดับนานาชาติของทุกๆ ปีด้วยตัวเอง ผู้ที่จะได้รับเงินรางวัลและพื้นที่ประชาสัมพันธ์ผลงานระดับโลก ถือเป็นก้าวแรกที่มีบทบาทอย่างสูงในการนำสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอด

James Dyson Award 2023 ผู้ชนะจะได้อะไร ?

  • เงินรางวัล ผู้ชนะรางวัลในระดับนานาชาติจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,330,000 บาท และผู้ชนะรางวัลในระดับประเทศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 222,000 บาทเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพิ่มเติม
  • พื้นที่ประชาสัมพันธ์ผลงาน ผู้ชนะรางวัลในปีที่ผ่านๆ มาต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าโอกาสและพื้นที่การประชาสัมพันธ์ที่ได้จากการชนะรางวัล James Dyson Award เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สามารถต่อยอดและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างประสบความสำเร็จ
  • การสนับสนุนจากผู้ชนะในอดีต รางวัล James Dyson Award ได้เปิดตัวเครือข่ายผู้ชนะรางวัลในปีที่ผ่านๆ มาเพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ชนะรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เชิงพาณิชย์ ผ่านกิจกรรมอย่างงานสัมมนา โอกาสในการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ชนะในปีที่ผ่านๆ มา รวมไปถึงโครงการให้คำปรึกษาโดยผู้ชนะในอดีต

โดยในแต่ละประเทศที่จัดการประกวดจะมอบรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศ 1 รางวัล (เงินรางวัล 222,000 บาท) และรางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล จากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจาก Dyson โดยเมื่อปีที่ผ่านมา รางวัล James Dyson Award เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และประเทศตุรกี และในปีนี้จะจัดการประกวดเป็นครั้งแรกในประเทศโปรตุเกส

ผู้ชนะรางวัลในระดับประเทศจะมีคุณสมบัติในการเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติโดยอัตโนมัติ โดยเซอร์ James Dyson เป็นผู้คัดเลือกผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติด้วยตัวเอง

ผลงานส่งประกวดที่ดี ควรเป็นอย่างไร?

KomilO James Dyson Award 2022

สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดคือสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาที่กระทบกับโลกของเราได้จริง พร้อมนำเสนอโซลูชันที่ชัดเจนและชาญฉลาด โดยผู้ชนะรางวัลระดับประเทศจากประเทศไทยเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาได้แก่ KomilO ผลงานแอปพลิเคชันจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

KomilO คือระบบอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ตรวจจับการเป็นสัดของโคนม โดยผสานรวมความสามารถของเทคโนโลยี IoT และเซนเซอร์ กลายเป็นโซลูชันสำหรับเกษตรกรโคนมที่สามารถเพิ่มอัตราการผสมเทียมที่สำเร็จที่จะส่งผลให้สามารถผลิตน้ำนมโคได้มากขึ้น โดยโซลูชันนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของแรงงานที่ทำให้การผสมพันธุ์โคนมล่าช้า หรือไม่สำเร็จ ซึ่งจากสถิติเผยว่าเกษตรกรโคนมไม่สามารถคาดการช่วงติดสัดของโคนมถึง 126,815 ตัวต่อหนึ่งรอบการติดสัด ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสในการผลิตน้ำนมคาดเป็นมูลค่าประมาณ 266 ล้านบาท

KomilO คือระบบที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของเซนเซอร์ 2 ตัวที่ติดตั้งอยู๋ที่บริเวณโคนหางและใบหูของโคนม โดยข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์นี้จะสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาติดสัดของโคนมและแจ้งเตือนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน

กฤษกร ลาศรี สมาชิกทีม KomilO กล่าวว่า “พวกเราตื่นเต้นมากเมื่อรู้ว่าการแข่งขัน James Dyson Award มาจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา และการชนะรางวัลนี้ทำให้พวกเราได้ทั้งความมั่นใจและทุนในการพัฒนาโซลูชันนี้ไปสู่การใช้เงินเชิงพาณิชย์ในอนาคต”

ผลงานที่ประสบความสำเร็จ

การชนะรางวัล James Dyson Award นอกจากจะได้เงินรางวัลแล้วนั้น ยังได้พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ผลงานที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การต่อยอดเชิงธุรกิจได้ ตัวอย่างเช่น mOm Incubators ตู้อบทารกแรกเกิดแบบราคาประหยัด ผู้ชนะรางวัลในระดับนานาชาติปี 2014 ที่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์กว่า 60 ชิ้นไปยังประเทศยูเครน และในอีก 2 ประเทศ รวมถึงในสหราชอาณาจักรด้วย โดยประเมินว่าผลงานชิ้นนี้ได้ช่วยชิวิตทารกแรกเกิดกว่า 1,000 คน โดยเจ้าของผลงานได้กล่าวไว้ว่า “เราคงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้หากไม่มี James Dyson Award”

John Tay เจ้าของผลงาน Rehabit ผู้ชนะรางวัลระดับประเทศ จากสิงคโปร์ ได้แรงบันดาลใจมากจากคุณพ่อผู้ประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการพักฟื้นจากโรคหลอดเลือด ผลงานของ John คือเซ็ตอุปกรณ์ 4 ชิ้นที่ช่วยในการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกายได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยในปัจจุบันเราจะสามารถพบ Rehabit ได้ที่ศูนย์บำบัดหลายแห่งในสิงคโปร์ และในขณะเดียวกันเขาก็กำลังพัฒนาอุปกรณ์ที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ โดย John กล่าวว่า “ตั้งแต่การแข่งขันได้มีนักบำบัดหลายท่านติดต่อมาเพื่อโอกาสในการร่วมงาน นับว่าเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ Rehabit ที่ยอดเยี่ยมมาก”

SafetyNet Technologies

Dan Watson เจ้าของผลงาน SafetyNet Technologies ดวงไฟสำหรับอุปกรณ์จับปลาเพื่อป้องกันการจับปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติปี 2012 ได้ก่อตั้งบริษัท Safety NetTechnologies หลังจากชนะรางวัลโดยมีจุดมุ่งหมายไปยังการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงให้มีความยั่งยืน นอกจากดวงไฟ LED แล้ว SafetyNet Technologies ยังนำเสนอกล้องวิดีโอใต้น้ำ และเซนเซอร์สำหรับการประมง “SafetyNet เป็นบริษัทระดับโลกแล้ว เราทำงานในทั่วทุกพื้นที่ และกำลังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการประมง” Dan Watson กล่าว

เมื่อปี 2016 สิ่งประดิษฐ์ SoaPen สบู่ในรูปแบบสีเทียนเพื่อสนับสนุนให้เด็กล้างมือได้รับรางวัลรองชนะเลิศในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาและสามารถเข้าร่วมรายการ Shark Tank และขายสินค้าไปแล้วกว่า 60,000 ยูนิต รวมถึงกำลังพัฒนาสินค้าใหม่ในรูปแบบสีเทียนเขียนตัวเพื่อสนับสนุนให้เด็กอาบน้ำ

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน