LINE OPENCHAT นำเสนอ 6 วิธีในการปกป้องตนเองจาก “แอดมินปลอม” รู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพ รับมือก่อนเกิดภัยอย่างทันท่วงที
เหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่นับวันนั้นยิ่งแพร่ระบาดไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าคนอยู่ที่ไหน พี่มิจ…ฉาชีพก็ตามไปที่นั่น พร้อมพัฒนารูปแบบกลโกงให้ชาวออนไลน์ตามกันแทบไม่ทัน ซึ่งบางทีก็แฝงตัวอยู่ในกลุ่มได้อย่างแนบเนียน ชนิดที่ถ้าหากไม่สังเกตดี ๆ หรือเอะใจสักนิด ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อไปแบบไม่รู้ตัว
เช่นเดียวกันกับ LINE OPENCHAT คอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวมเหล่าผู้ที่ชื่นชอบและมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ที่เหล่ามิจฉาชีพกำลังแฝงตัวมาในรูปแบบ “แอดมินปลอม” เป็นรูปแบบกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่มาในหลากหลายสถานการณ์และกำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “แอดมินตัวจริง” และหลงเชื่อทำตาม
เปิดสถานการณ์ “แอดมินปลอม” ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ ด้วยสารพัดเหตุผล ที่มักจะตามด้วยลิงก์ให้กดติดตาม ได้แก่
- ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างโทรศัพท์มีปัญหา
- ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างกลุ่มเต็ม
- ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างเจ้าตัวเข้าบัญชี LINE เดิมไม่ได้
- ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างกลุ่มเดิมโดนสแปมก่อกวน
- ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ พร้อมของรางวัลหลอกล่อ
6 วิธีสังเกตและป้องกัน “แอดมินปลอม” บนโอเพนแชท ที่ช่วยรับมืออย่างอยู่หมัด
- สังเกตรูปโปรไฟล์ “แอดมินตัวจริง” จะมีไอคอนมงกุฎที่จะคร่อมทับระหว่างรูปโปรไฟล์และกรอบไอคอนโปรไฟล์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอมแปลงไม่ได้ โดยเหล่าแอดมินปลอม มักจะครอปรูปไอคอนมงกุฎไปวางอยู่ในรูปโปรไฟล์ซึ่งดูไม่ค่อยชัดเจน โดยจะใช้ชื่อคล้าย ๆ แอดมินตัวจริง
- ตรวจสอบจากรายชื่อสมาชิก ชื่อในลำดับแรกจะเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเอง ลำดับที่ 2 จะเป็นแอดมินตัวจริงของห้อง ซึ่งหนึ่งห้องจะมีแอดมินหลักเพียงคนเดียวเท่านั้น และลำดับถัดไปจะเป็น Co-Admin (ในหนึ่งห้องสามารถมี Co-Admin ได้มากกว่า 1 คน) กรณีที่มีรูปมงกุฎ แต่รายชื่อรวมอยู่กับสมาชิกกลุ่มคนอื่นแสดงว่า เป็นแอดมินปลอม
- ไม่กดลิงก์น่าสงสัย มักจะเป็นลิงก์กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องที่เข้าร่วมอยู่ อาจจะเป็นกลุ่มแปลกปลอม หรือเว็บไซต์ภายนอก ซึ่งต่อให้ไม่อยู่ในรูปแบบของแอดมินปลอม แต่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มาเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหลอกลวง เช่น ชวนทำงานเสริม รับสมัครงาน สร้างรายได้ ก็เป็นอีกแนวที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครในโอเพนแชท เช่น หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร ฯลฯ
- สำหรับแอดมินกลุ่ม ควรติดตั้งสแปมบอท เพิ่มคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง เช่น เข้ากลุ่มใหม่ ย้ายกลุ่มโอเพนแชท หรือ คำที่ไม่เหมาะสม เพื่อช่วยลบคำหรือเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ก็เป็นอีกวิธีป้องกันที่ใช้ได้ผล นอกจากนี้ แอดมินปลอมอาจจะมาในรูปแบบของบอท Auto Reply ชี้ชวน โดยทำทีเป็นเปลี่ยนชื่อและรูปโปรไฟล์ให้เหมือนบอท ซึ่งบอท Auto Reply ของจริง จะไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อสมาชิก
- กดรายงานปัญหา ทั้งสมาชิกกลุ่มและแอดมิน สามารถกดรายงานปัญหาตรงข้อความหรือรูปโปรไฟล์ของผู้ที่แอบอ้างได้ด้วยตัวเอง โดยกดค้างที่ข้อความหรือโปรไฟล์นั้น ๆ และเลือก “รายงานปัญหา” รวมถึงการรายงานปัญหาพร้อมหลักฐาน โดยส่งมาที่ http://contact-cc.line.me
เปิดกลโกงพร้อมเผยวิธีรับมือเหล่ามิจฉาชีพในแบบฉบับรวบรัดชัดเจนขนาดนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ชาวออนไลน์เอะใจและรู้เท่าทัน ช่วยปกป้องคอมมูนิตี้โอเพนแชทกลุ่มอันเป็นที่รักได้อีกแรง