ข้อมูลจาก IDC รายงานภาพรวม ตลาดสมาร์ทโฟนไทย ช่วง ไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ปี 2566 มียอดจัดส่งลดลง 25.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว โดยมียอดจัดส่งทั้งหมดราว 3.45 ล้านเครื่อง
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยหดตัวลง ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดจัดส่งของสมาร์ทโฟนกลุ่มเริ่มต้น (Entry-level) ที่มีราคาไม่สูงมาก มียอดลดลงมากที่สุด โดยลดลงเหลือ 51% ของตลาด เทียบกับในไตรมาสก่อน (Q4/2022) อยู่ที่ 60% และไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (Q1/2022) ที่ 59%
ทางกลับกัน สมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียม (ราคามากกว่า 27,000 บาท) มียอดจัดส่งเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นมาเป็น 19% เทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 11%
ด้วยยอดขายที่ทำได้ดีมากๆ ของ Samsung Galaxy S23 series ที่เริ่มวางจำหน่ายในไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม มีกระแสตอบรับที่ดีมากๆ รวมถึง iPhone 14 series ที่ยังมียอดขายที่ดีต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับสมาร์ทโฟน 5G ในประเทศไทย ตอนนี้ส่วนแบ่งในตลาดไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 45% เพิ่มขึ้นจาก 33% ในไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ด้วยแรงหนุนทั้งจากสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสมาร์ทโฟนในระดับกลางและล่างก็เริ่มมีรุ่นที่รองรับ 5G เป็นตัวเลือกที่มากขึ้น
5 อันดับ สมาร์ทโฟนในไทย แบ่งตามยอดจัดส่งและส่วนแบ่งในตลาด (ไตรมาสแรก 2023)
- Samsung : 822,700 เครื่อง ส่วนแบ่งคิดเป็น 23.8%
- OPPO : 768,800 เครื่อง ส่วนแบ่งคิดเป็น 22.3%
- Apple : 668,400 เครื่อง ส่วนแบ่งคิดเป็น 19.4%
- Xiaomi : 438,700 เครื่อง ส่วนแบ่งคิดเป็น 12.7%
- realme : 264,200 เครื่อง ส่วนแบ่งคิดเป็น 7.7%
ทาง IDC คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทย จะไม่ได้หดตัวแค่ ไตรมาสแรก แต่จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียมที่มีราคาสูงจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดได้อยู่ รวมถึงยังมีสัญญาณการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใหนประเทศมากขึ้น ซึ่งสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในส่วนของสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามอยู่ในเรื่องความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองที่ยังมีอยู่
ข้อมูลจาก : IDC