LINE ประเทศไทย ชูเทคโนโลยี Hyper-localized ก้าวสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย”

LINE ประเทศไทย ชูเทคโนโลยี Hyper-localized ยกระดับชีวิต ธุรกิจ และนักพัฒนา ก้าวสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย” ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (Life Infrastructure) ยุคใหม่

LINE แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย

ครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย กับงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ LINE Conference Thailand 2023 หรือ #LCT23 พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ก้าวต่อไปในการพัฒนาและดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่แห่งปี สู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย” เปิดโอกาสเชื่อมต่อเทคโนโลยีอย่างไร้รอยต่อ พร้อมเผยแผนการพัฒนาโซลูชันภายใต้ความเข้าใจผู้ใช้ชาวไทย พันธมิตร และนักพัฒนา ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (Life Infrastructure) ยุคใหม่

“เปิดโอกาส” สู่อนาคตแห่งนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี Hyper-localized

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า กว่า 12 ปีที่ LINE ประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ภายใต้พันธกิจ “Closing the Distance” ผ่านแพลตฟอร์มและบริการที่มีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านคน ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานชีวิตในยุคดิจิทัล (Life Infrastructure) พร้อมผลักดันจุดแข็งแห่งการมีทีมนักพัฒนาประจำประเทศไทย ที่จะเป็นบันไดสู่อนาคตขั้นถัดไปของนวัตกรรมในการขับเคลื่อน Smart Country ด้วยเทคโนโลยี Hyper-Localized เพื่อ “เปิดโอกาส” ให้คนไทยเติบโตในยุคดิจิทัลได้ในหลากหลายมิติอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ไม่ทิ้งจุดแข็ง Group Chat เล็งพัฒนาโซลูชันเพื่อการทำงาน

ภายในงาน นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ยังได้เผยถึงบริการพื้นฐานอย่าง ‘แชท’ ที่เป็นจุดแข็งของ LINE ซึ่งยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Group Chat ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนไทย สะท้อนจากสถิติการเติบโตที่สูงขึ้นกว่า 56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และอัตราการส่งข้อความประเภทต่าง ๆ ทั้งรูปภาพ ไฟล์ เสียง และวิดีโอ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นทั่วโลก

โดยผลสำรวจจาก LINE ประเทศไทยพบว่า หมวดหมู่ Group Chat ยอดนิยม ได้แก่ กลุ่มเพื่อน 82% ครอบครัว 80% ที่ทำงาน 77% และโรงเรียน 27% สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มผู้ใช้และวิธีการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้กว่า 77% ระบุว่ากลุ่มแชทครอบครัวช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน Group Chat ยังสามารถช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดสังคมการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่าในอดีต นำมาสู่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ Work Group สำหรับคนไทย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต และครอบครัวไปด้วยกัน

นอกจากนี้ นายนรสิทธิ์ ยังได้เผยถึงแผนเปิดตัว LINE STICKERS PREMIUM บริการสติกเกอร์จ่ายรายเดือน/รายปี สำหรับคนไทย อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเลือกใช้งานชุดสติกเกอร์ได้หลากหลายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางการพัฒนาจุดแข็งของแพลตฟอร์ม LINE ด้านการสื่อสารดิจิทัลให้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เปิดวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแห่งปีครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย

นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) กล่าวว่า LINE ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะองค์กรเทคฯ เพื่อคนไทย โดยในช่วง 5 ปีจากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” ที่พร้อมเปิดรับการเชื่อมต่อกับหลากหลายเทคโนโลยีนำสมัย นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย ทั้งในด้านผู้ใช้งาน ธุรกิจ และพันธมิตร โดยอาศัยแนวคิดตั้งต้นจากทีมงาน LINE ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

  1. Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชันอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชันที่คิดค้นเพิ่มเติมโดย LINE เอง และระบบที่พาร์ทเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น
  2. Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง
  3. Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชันต่าง ๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน
  4. Privacy Focused คงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเคร่งครัด

ปู 3 โร้ดแมป ยกระดับเทคโนโลยี

  1. Customer Data Tools เพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย ภายใต้ขอบเขตการยินยอมจากผู้บริโภคตามกฎหมาย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SME) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ
  2. Ads Improvement ปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาบน LINE ให้สามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
  3. API & Plug-In เปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชันสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชันให้ตรงกับความต้องการ

LINE ประเทศไทยมุ่งเน้นพัฒนาโซลูชันและบริการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของคนไทย ผ่านโอกาสที่เปิดกว้างบน LINE ให้นักพัฒนาทั้งในและนอกองค์กรได้มีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มเปิดแห่งนี้ สู่การขับเคลื่อนประเทศ พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนด้วยเทคโนโลยีอย่างไร้ขีดจำกัด

อัปเดตข่าวสารล่าสุดได้ที่ https://www.facebook.com/LINEDEVTH/

ทาสกระต่าย Always and Forever