เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมงานล้ำหน้าฯ มีโอกาสสำคัญ ได้ร่วมทริปเดินทางไปยังเมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทาง GAC AION ได้เปิดบ้านให้สื่อจากต่างประเทศ เยี่ยมชม โรงงาน ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ต้องบอกว่ามีสิ่งที่น่าสนใจและตื่นเต้น กับเทคโนโลยีการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัย รวมถึงยังได้มีโอกาสทดสอบลองนั่งรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นจากแบรนด์ AION และ Hyper
รู้จักกับ GAC AION แบรนด์รถยนต์ EV ติด Top 3 ของโลก!
GAC (จีเอซี) หรือชื่อเต็มๆ คือ Guangzhou Automobile Group (กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ้ป) เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ ที่มีแบรนด์ผลิตรถยนต์ในเครือมากมาย อาทิ GAC Trumpchi, GAC Toyota, GAC Honda ฯลฯ
และเมื่อปี 2560 ก็ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ GAC AION เพื่อมุ่งเน้นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยแบ่งเป็นแบรนด์ AION ที่เป็นกลุ่มราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้าน และแบรนด์ Hyper ที่เน้นเรื่องความหรูหราที่มาพร้อมกับสมรรถนะขั้นสูง
โดยที่ยอดขายของบริษัทในเครือ GAC ในปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดการผลิตและจำหน่ายไปแล้วถึง 2.4 ล้านคัน มูลค่ารายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปี 2566 นี้ ก็มียอดขายที่จีนแล้วถึง 1.2 ล้านล้านบาท
และในปีล่าสุด GAC ยังได้รับจัดอันดับที่ 165 ในกลุ่ม Fortune Global 500 ที่จัดอันดับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกโดยนิตยสาร Fortune อีกด้วย
ถึงแม้ว่า GAC เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV มาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น แต่มีตัวเลขการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นราว 120% ทุกปี ถ้าดูตัวเลขปี 2565 ขายไปได้ถึง 271,200 คัน คิดเป็นรายได้ถึง 1.9 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 97%)
ในปี 2566 นี้ GAC ตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในแบรนด์ของ AION ได้ถึง 600,000 คัน โดยที่ยอดขายช่วง มกราคม-ตุลาคม ทำยอดไปแล้ว 380,000 คัน
โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสุดทันสมัย ขับเคลื่อนด้วย AI
GAC AION ลงทุนในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองกว่างโจว ด้วยทุนมหาศาลกว่า 5 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ถึง 3,200 ไร่ โดยแบ่งเป็นส่วนโรงงานผลิตรถยนต์ 753,000 ตารางเมตร รวมอยู่กับศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ศูนย์ทดสอบด้านความปลอดภัย ส่วนจัดนิทรรศการเทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงสนามสำหรับทดสอบรถ ครบวงจรอยู่ในที่เดียว
ตัวโรงงานมีสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยสถานีประกอบมากถึง 216 จุด โดยรถ 1 คันจะมีการประกอบผ่านสเตชันทั้งหมด 216 จุด ใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมง นับเฉลี่ยแล้ว ทุก 53 วินาที จะมีรถผลิตเสร็จ 1 คัน และมีกำลังการผลิตได้มากถึง 4 แสนคันต่อปี
ความล้ำสมัยในการผลิตรถยนต์ในโรงงานของ GAC AION นั้น มีการใช้ AI เข้ามาจัดการในการวางแผนประกอบรถแต่ละคัน โดยไม่จำเป็นว่าในการผลิตแต่ละรอบจะต้องเป็นรุ่นเดียวหรือสีเดียว แต่สามารถผลิตตามออเดอร์ที่ได้รับมาจากทางฝ่ายขาย รวมถึงลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันหรือหน้าเว็บของ GAC AION
ตลอดเส้นทางของสายการประกอบตัวรถ จะมีหุ่นยนต์ที่จะหยิบเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาให้ตามออเดอร์ของรถคันนั้นๆ มาให้ทีมช่างประกอบที่มีความเชี่ยวชาญได้ทันที จึงทำให้การประกอบรถทำได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องตามที่ลูกค้าเลือก
สำหรับส่วนของงานเชื่อม จะถูกแยกส่วนจากไลน์การผลิต มีพื้นที่กว่า 47,000 ตารางเมตร โดยจะใช้หุ่นยนต์ทำงาน 100% เพื่อความแม่นยำ เที่ยงตรง ครบถ้วน และรวดเร็วกว่าการใช้มนุษย์ อีกทั้งกระบวนการเชื่อมยังใช้นวัตกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมลพิษน้อย
รวมถึงบนหลังคาของโรงงาน ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีกำลังผลิตมากถึง 20 ล้านกิโลวัตต์ นอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าภายในโรงงานได้ถึง 50% ต่อปี
ในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ในโรงงานของ GAC AION มีความเข้มงวดระดับสูงและพิถีพิถันมาก มีการใช้พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมกับ AI ในการเก็บข้อมูลพร้อมกล้องเก็บภาพตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับตรวจสอบย้อนหลัง หากเกิดมีข้อผิดพลาดเพื่อใช้ติดตามและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
“แมกกาซีนแบตเตอรี่” เทคโนโลยีพลังงานสำหรับยานยนต์ที่ปลอดภัยที่สุด
GAC AION นั้นมีศูนย์ R&D วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า EV ด้วยเทคโนโลยี Magazine Battery ที่เป็นลิขสิทธิ์คิดค้นขึ้นมา นอกจากเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งานแล้ว ความปลอดภัยถือว่าทำได้ดีมากๆ
แบตเตอรี่ของ GAC ผ่านการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการติดไฟ, ลุกไหม้ และยังทดสอบหนักๆ ด้วยการยิงปืน ก็ยังไม่เกิดปัญหา GAC ภูมิใจนำเสนอว่า แมกกาซีนแบตเตอรี่ ที่มีใช้งานในรถของลูกค้าทุกคัน จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยเคสปัญหาร้ายแรงอย่างการเกิดไฟไหม้หรือระเบิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว
นอกจากนี้ แบตเตอรี่ยังมีการซีลที่แน่นหนา สามารถทนต่อการแช่น้ำได้นานถึง 6 ชั่วโมง โดยมีการรับประกันให้นาน 8 ปี หรือระยะทาง 2 แสนกิโลเมตร
นอกจากนี้ ทาง GAC AION ยังมีการลงทุน R&D มากกว่า 15,000 ล้านบาท ต่อเนื่องกว่า 30 เดือน พร้อมทีมงานกว่า 8,000 คน โดยปัจจุบันมีการถือครองสิทธิบัตรในผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 15,000 รายการ โดยปัจจุบันได้พัฒนาตัวแพลตฟอร์มรถไฟฟ้า EV มาเป็น AEP 3.0 ที่มีความปลอดภัย แข็งแรงทนทานต่อการชน และยังมีพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวาง
ทดสอบลองนั่ง รถยนต์ไฟฟ้า GAC AION และ Hyper
นอกจากเราจะได้ชมการผลิตจริงภายในโรงงานแล้ว ทาง GAC ยังให้เราได้ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าถึง 3 รุ่นด้วยกันคือ AION LX Plus, AION V Plus และ Hyper GT ที่รถแต่ละคันมีทั้งประสิทธิภาพในส่วนอัตราเร่งที่รวดเร็ว และมีระบบขับขี่อัจฉริยะให้การขับได้อย่างปลอดภัย
รวมถึงยังมีการสาธิตฟีเจอร์สั่งจอดรถแบบไม่มีคนขับ หรือเรียกรถจากที่จอดมาหาเจ้าของรถได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้ โดยมีระยะการสั่งการได้ไกลถึง 150 เมตร และมั่นใจเรื่องความปลอดภัยว่าขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่อัตโนมัติ หากมีคนเดินตัดหน้าในเส้นทาง รถก็จะเบรกหยุดให้ในทันที
ชมเทคโนโลยีล้ำๆ ที่ GAC Science & Technology Museum
ในทริปนี้ ทีมงานล้ำหน้าฯ เรายังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมส่วนพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทาง GAC อีกด้วย มีการโชว์นวัตกรรมต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ระบบพลังงาน แบตเตอรี่ และรถยนต์ต้นแบบที่น่าสนใจ
นอกจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีการพัฒนาระบบพลังงานทางเลือกอื่นๆ ด้วย อย่าง Fuel Cell และ Hydrogen ด้วย
ADIGO Pilot เป็นอีกโครงการพัฒนารถยนต์อัตโนมัติ แบบ L4 ที่สามารถควบคุมการขับได้จากระยะไกลแบบเรียลไทม์ ผ่านการเชื่อมต่อ 5G ซึ่งจะใช้ในเวลาที่ระบบอัตโนมัติเกิดขัดข้อง ที่ตอนนี้มีให้บริการวิ่งใช้งานจริงบนท้องถนนในเมืองกว่างโจวแล้ว
ที่นี่ยังมีของเด็ดที่ล้ำมากๆ นั่นคือ GAC GOVE รถยนต์ไฟฟ้าที่แยกร่างออกเป็นโดรนบินได้ ทำให้สามารถเดินทางได้ทั้งบนบกและอากาศภายในคันเดียว ตอนนี้ยังเป็นยนตกรรมต้นแบบแต่ก็ผ่านการทดสอบบินจริงสำเร็จมาแล้ว ต้องรอดูกันว่ามันจะถูกพัฒนาจนออกมาใช้งานจริงในอนาคตได้หรือไม่
อนาคตของ GAC AION ในประเทศไทย
GAC AION ได้ประกาศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป็น บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี “AION Y Plus” เป็นรถรุ่นแรกที่วางขายในประเทศไทย
GAC AION ยังบอกกับเราด้วยว่า ได้เลือกประเทศไทย เป็นประเทศแรกในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ วางแผนที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยจาก โรงงาน ผลิตรถยนต์ในประเทศจีน ไปตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อให้เป็นฮับในการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
คาดว่า GAC AION จะสร้าง โรงงาน อัจฉริยะมาตรฐานระดับโลก และเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เฟสแรก ภายในปีหน้า (2567) ที่จะถึงนี้ โดยตั้งเป้าการผลิตและขายไว้ที่ 20,000 คันต่อปี
และพร้อมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า กับแผนการสร้างศูนย์บริการมากกว่า 30 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะทยอยสร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ส่วนด้านของบริการหลังการขาย มีแผนจัดการเตรียมคลังอะไหล่ภายในประเทศ พร้อมตั้งมาตรฐานการจัดส่งอะไหล่ให้ศูนย์ทั่วประเทศได้ภายใน 24 ชั่วโมง
สำหรับใครที่อยากสัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION สามารถไปได้ที่งาน Motor Expo 2023 บูธ EO3 ที่งานนี้มีไฮไลต์เด็ดนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มาให้ชมกัน
- Hyper SSR ที่ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายใน 1.9 วินาที
- Hyper HT รถ SUV ไฟฟ้าขนาดกลางสุดหรู พร้อมประตูคู่หลังเปิดขึ้นแบบปีกนก (Gullwing)
- Hyper GT รถสปอร์ตซีดานไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เร่งความเร็ว 0 – 100 ภายใน 4 วินาที รัศมีวงเลี้ยว 5.3เมตร ระยะทางในการเบรกน้อยกว่า 33.9 เมตร พร้อมด้วยประตูแบบปีกผีเสื้อ (Butterfly Doors)
และจะประกาศเปิด AION Y Plus 490 Premium ใหม่ อัพเกรดออปชั่นและฟังก์ชันช่วยเหลือการขับขี่ เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่ดีเยี่ยม และความปลอดภัยที่เหนือกว่า