จากความมุ่งมั่นในด้านการสร้างระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้ Binance ผู้นำบล็อกเชนอีโคซิสเต็ม (Blockchain Ecosystem) และแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของโลก ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย (Royal Thai Police) ในการสืบสวนคดีสำคัญ การทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศอินเดียเพื่อปราบปรามขบวนการฉ้อโกง E-Nugget ตลอดจนการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี และหน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไต้หวัน เป็นต้น เพื่อเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทย แผนการกำกับดูแลทางด้านอาชญากรรมทางการเงินของไบแนนซ์ (Binance’s Financial Crimes Compliance – FCC) ได้มีบทบาทสำคัญในการรื้อถอนเครือข่ายอาชญากรที่ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นกองทุนสำหรับกระทำการผิดกฎหมาย โดยไบแนนซ์ได้เป็นส่วนสำคัญในปฏิบัติการ Trust No One เพื่อต่อต้านขบวนการหลอกหมูขึ้นเขียง (Pig Butchering Scam) ผ่านการทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท และจับกุมสมาชิกคนสำคัญในกลุ่มอาชญากรจำนวน 5 ราย โดยการจับกุมในครั้งนี้ยังได้นำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อกว่า 3,200 รายที่ถูกหลอกลวง
นอกจากนั้น ไบแนนซ์ยังมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการ “The Purge” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ บช.สอท. เพื่อนำไปสู่การจับกุมหัวหน้าแกงค์ชาวต่างชาติที่ก่อคดีฉ้อโกง พร้อมเข้ายึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว มีเงินสดมูลค่าอีกกว่า 80 ล้านบาทที่เกือบจะถูกขนส่งข้ามพรมแดนไปยังพม่า โดยปฏิบัติการเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไบแนนซ์ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงจุดยืนอันแข็งแกร่งด้านการต่อสู้กับสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างชัดเจน
พ.ต.ท. เกริกไกร วีระเชาวภาส รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สอท.1 กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโลกใต้ดินของอาชญากรรมคริปโตและความทุ่มเทด้านความปลอดภัยของไบแนนซ์ช่วยให้การทำงานร่วมกันของเราเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของการล้มล้างขบวนการหลอกหมูขึ้นเขียงที่ผ่านมา โดยเรารู้สึกขอบคุณไบแนนซ์เป็นอย่างมากสำหรับความร่วมมือเพื่อร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ และพร้อมเดินหน้าเพื่อเคียงข้างร่วมปราบปรามกลุ่มอาชญากรต่อไป”
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา บช.สอท. ยังได้จัดงานแถลงข่าวและพิธีการมอบรางวัลให้กับไบแนนซ์ เพื่อยกย่องความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งและการเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ตลอดจนการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่ช่วยเปิดโปงเหล่าอาชญากรข้ามชาติในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยภายในงานมี นาย อัคบาร์ เอ (Akbar A.) หัวหน้าฝ่ายสืบสวนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของไบแนนซ์ เป็นตัวแทนในการรับรางวัล
นอกจากความสำเร็จของปฏิบัติการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ไบแนนซ์ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศอินเดีย (Enforcement Directorate – ED) เพื่อปราบปรามแผนการฉ้อโกงของขบวนการ E-Nugget โดยในปี 2022 หน่วยงาน FCC ของไบแนนซ์ได้ให้ความช่วยเหลือ ED ในการตีความข้อมูลที่ซับซ้อนบนบล็อกเชน พร้อมให้ความสนับสนุนปฏิบัติการภาคพื้นดิน จนส่งผลให้เกิดการอายัดบัญชีกว่า 42 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการการฉ้อโกง และรักษาทรัพย์สินมูลค่ากว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐไว้ได้อย่างปลอดภัย
นายนิชานต์ นีราช (Nishant Neeraj) ผู้ช่วยผู้อำนวยการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายประเทศอินเดีย ได้ติดต่อมายังไบแนนซ์เพื่อขอความร่วมมือในด้านการสืบสวนด้วยความมุ่งมั่นที่จะกำจัดพื้นที่สำหรับอาชญากร ซึ่งจากความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค การวิเคราะห์ข้อมูล และความช่วยเหลือเชิงรุกระหว่างปฏิบัติการภาคพื้นดินของไบแนนซ์ ทำให้การคลี่คลายคดีดังกล่าวเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ไม่เพียงเท่านั้น ไบแนนซ์ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายของประเทศไต้หวัน ผ่านการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการบังคับใช้กฎหมายให้กับหน่วยงานต่างๆ กว่า 10 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไต้หวัน สำนักงานอัยการประจำเขตต่างๆ และสำนักงานสืบสวนคดีอาญา โดยไบแนนซ์ได้รับผลตอบรับเชิงบวกจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกว่าพันคนที่เข้าร่วมหลักสูตร โดยก่อนหน้านี้ นายริชาร์ด เทง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์ได้มีโอกาสเข้าพบหัวหน้าอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดประเทศไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการป้องกันการเกิดอาชญากรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและหารือเกี่ยวกับการขยายขอบเขตความร่วมมือในด้านความปลอดภัยอีกด้วย
ทั้งนี้ ไบแนนซ์ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี (Korean National Police Agency – KNPA) เพื่อสร้างและพัฒนาวิธีการอันก้าวหน้าทางด้านการสืบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ โดยนายซูพยอง ลี (Soopyung Lee) พนักงานสืบสวนแห่ง KNPA ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ของความร่วมมือกับไบแนนซ์ในงาน “Securing the Future Crypto” ที่มีต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ทาง KNPA ยังได้มอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องและแสดงความขอบคุณให้กับไบแนนซ์ โดยมี นายยาเร็ก ยาคุบเช็ค (Jarek Jakubcek) หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมการบังคับใช้กฎหมายของไบแนนซ์ เป็นผู้รับมอบณ งาน International Symposium on Cybercrime Response (ISCR) 2023
ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างไบแนนซ์และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกได้พิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในการช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูล ‘รายงานอาชญากรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2024’ ของ Chainalysis ได้แสดงให้เห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่โอนย้ายผ่านบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมายลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2023 รวมถึงอัตราส่วนของปริมาณการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผิดกฎหมายมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 0.34% จากเดิมที่มีจำนวน 0.42% ในปี 2022
วิธีการเชิงรุกและความร่วมมือระหว่างไบแนนซ์และผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะสร้างโลกบล็อกเชนที่ปลอดภัยและโปร่งใส โดยไบแนนซ์ได้เน้นย้ำถึงความทุ่มเทขององค์กรที่มีต่อผู้ใช้และชุมชนในวงกว้าง เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมสินทรัพย์ดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น ลดพื้นที่ของการกระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนผลักดันการต่อต้านอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไบแนนซ์จะยังคงตั้งใจพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านการสร้างระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีความรับผิดชอบต่อทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
นอกจากนี้ ในปี 2023 ไบแนนซ์ ยังได้ตอบรับคำขอการบังคับใช้กฎหมายกว่า 58,000 ครั้ง ตลอดจนการจัดเวิร์คช็อปและการฝึกอบรมกว่า 120 รายการ (เพิ่มขึ้นจาก 70 รายการในปี 2022) เพื่อมอบข่าวกรองที่สำคัญ มอบความรู้ และทักษะที่จำเป็นซึ่งเป็นรากฐานความสำเร็จของการสืบสวนและการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญให้กับนักต่อสู้กับอาชญากรรมทั่วโลก