รัสเซียและจีน วางแผนที่จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนพื้นผิวดวงจันทร์ภายในปี 2578 โดย Roscosmos หน่วยงานอวกาศรัสเซีย ได้เริ่มพัฒนา โรงไฟฟ้านิวคลียร์ สำหรับสถานีอวกาศ บนดวงจันทร์ ร่วมกับ สำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน (CSA)
ในระหว่างการดำเนินการโครงการ สถานีอัตโนมัติ “Smena-6”, “Smena-7” และ “Smena-8” ที่จะถูกส่งไปยังดวงจันทร์ หน่วยงานอวกาศจะทดสอบเทคโนโลยีพื้นฐานระหว่างภารกิจแรกบนดวงจันทร์ การทดสอบจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยทดลองที่สามารถควบคุมจากระยะไกลได้
Yuri Borisov หัวหน้า Roscosmos กล่าวก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมว่า “เรากำลังพิจารณาโครงการส่งและติดตั้ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บนดวงจันทร์ ร่วมกับจีนอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2576-2578” ทั้งสองหน่วยงานได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เพื่อพัฒนาสถานีวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ระหว่างประเทศ (ISS) โดยรัสเซียและจีนจะส่งภารกิจแรกไปยังดวงจันทร์ในปี 2569 และโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2571
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แผงโซลาร์เซลล์อาจไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต และทาง Roscosmos ยังมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนิวเคลียร์อวกาศด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันซีรีส์ TOPAZ ที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมสำรวจโลกซีรีส์ Legend
ก่อนหน้านี้ ทางด้านของ NASA ได้มอบสัญญา 5 ล้านดอลลาร์ให้กับพันธมิตรเชิงพาณิชย์ในปี 2565 เพื่อพัฒนาแบบเบื้องต้นสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนดวงจันทร์ที่สามารถให้พลังงานได้นานถึงทศวรรษโดยไม่ต้องการการแทรกแซงจากมนุษย์
การพัฒนา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สำหรับสถานีอวกาศ บนดวงจันทร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยั่งยืนบนดวงจันทร์ โดยแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัสเซียและจีนในเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูง รวมถึงเน้นย้ำความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ในการสำรวจและตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต
ข้อมูลจาก Interesting Engineering