แอสเซนด์ มันนี่ ฟินเทคยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศรับเงินลงทุนมูลค่า 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.2 พันล้านบาท) จาก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) โดยมี MUFG Bank, Ltd. เป็นผู้ลงทุนหลัก พร้อมด้วยกองทุน Finnoventure Private Equity Trust I ภายใต้การบริหารของกรุงศรี ฟินโนเวต
การลงทุนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กรในการผลักดันการเติบโตของบริการทางการเงินดิจิทัลในประเทศไทย โดยการผสานจุดแข็งของ MUFG ด้านเครือข่ายการเงินระดับโลก เข้ากับความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นและนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลของแอสเซนด์ มันนี่ ซึ่งจะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจ SMEs ในไทย
แอสเซนด์ มันนี่ ภายใต้การถือหุ้นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) ได้ก้าวขึ้นเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทยในปี 2564 ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านบริการการเงินดิจิทัลในไทยและขยายการดำเนินงานไปแล้ว 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยแพลตฟอร์ม TrueMoney ที่ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สินเชื่อ BNPL การลงทุน และประกันภัย โดยมีฐานผู้ใช้งานในไทยกว่า 30 ล้านคน
ยาซูชิ อิตากากิ รองประธานบริหารอาวุโส หัวหน้ากลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ระดับโลกของ MUFG กล่าวว่า “MUFG มองเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดบ้านที่สอง เรามุ่งลงทุนเชิงกลยุทธ์กับผู้ให้บริการด้านการเงินดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาค โดยเล็งเห็นศักยภาพของแอสเซนด์ มันนี่ ในการเข้าถึงผู้ใช้ที่หลากหลายทั่วประเทศไทย พร้อมความเข้าใจเชิงลึกในความต้องการด้านการชำระเงินและบริการทางการเงินของผู้ใช้ การลงทุนครั้งนี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการเข้าถึงบริการทางการเงินในระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง”
ทางด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการของแอสเซนด์ มันนี่ กล่าวว่า “เรายินดีต้อนรับ MUFG เข้าร่วมลงทุนกับแอสเซนด์ มันนี่ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการสร้างนวัตกรรมและผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงินในไทย แต่ยังแสดงถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในศักยภาพของบริษัท เราเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่แข็งแกร่งและครอบคลุม ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของทั้งภูมิภาคและประเทศผ่านการนำระบบการเงินดิจิทัลมาใช้”
การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการเงินดิจิทัลในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว