เจาะลึกพฤติกรรมการใช้ AI คนทำงานผ่านรายงาน Work Trend Index ฉบับปี 2024

ปี 2024 ถือเป็นปีที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ประหยัดเวลา หรือเสริมทักษะใหม่ๆ ให้แก่พนักงาน จากผลการสำรวจ Work Trend Index ฉบับล่าสุดของ ไมโครซอฟท์ และ LinkedIn ที่รวบรวมความเห็นจากพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คนใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งแนวโน้มการจ้างงาน ข้อมูลการใช้งานจากลูกค้า Fortune 500 และข้อมูลสถิติการใช้งานบริการ Microsoft 365 และ LinkedIn นับล้านๆ รายการ ผลปรากฎว่า AI ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยพบประเด็นเชิงลึกที่น่าสนใจ 3 เรื่องหลัก ดังนี้

พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม

จากการสำรวจพบว่า พนักงานไทยถึง 92% นำ AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในจำนวนนี้ 81% เป็นการเลือกใช้เครื่องมือและบริการ AI ส่วนตัว โดยไม่ได้รอคำสั่งหรือการอนุญาตจากบริษัท ส่งผลให้เกิดเป็นกระแส Bring Your Own AI (BYOAI) เนื่องจากแรงกดดันจากภาระงานที่ล้นมือ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกรู้สึกว่ามีงานที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถจัดการงานให้เสร็จตามกำหนดได้ พนักงานจึงต้องการให้ AI เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ ประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากขึ้น

ในมุมมองของผู้บริหารเอง พบว่า 91% ของผู้บริหารในไทยเห็นตรงกันว่า บริษัทจำเป็นต้องนำ AI มาปรับใช้เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้บริหารในไทยถึง 64% ที่ยังรู้สึกกังวลว่าองค์กรของตนเองยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ด้าน AI ที่ชัดเจน และยังกังวลกับการที่ไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ทางธุรกิจจากการใช้งาน AI ออกมาเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรมได้ ทั้งๆ ที่พนักงานส่วนใหญ่ก็ได้นำ AI มาใช้งานในแบบของตัวเองไปแล้ว

ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

จากการสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มพนักงานที่เป็น Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง ที่นำ AI มาปรับใช้ในการทำงานอย่างล้ำลึกจนเปลี่ยนวิธีการทำงานในแต่ละวัน สามารถลดเวลาการทำงานลงได้เฉลี่ยถึงวันละ 30 นาที หรือ 10 ชั่วโมงต่อเดือน โดยพนักงานกลุ่ม Power Users ในไทยถึง 86% เลือกที่จะเริ่มต้นและจบวันทำงานด้วยการใช้งาน AI เลยทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 85%

แต่อย่างไรก็ดี พนักงานกลุ่ม Power Users ของไทย มีเพียง 45% เท่านั้นที่จะกล้าทดลองใช้ AI ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 68% และยังพบอีกว่าในประเทศไทยมีเพียง 28% ของพนักงานกลุ่มนี้ที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบทบาท AI ในการทำงานจากทีมงานของตัวเอง ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% และมีเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ได้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42% จะเห็นได้ว่ายังขาดโครงสร้างการสนับสนุนการใช้งาน AI จากภายในองค์กรอยู่มาก แสดงให้เห็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานกลุ่มนี้หากได้รับการผลักดันที่ถูกทิศทาง ซึ่งอาจจะช่วยนำพาองค์กรไปสู่การใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ และช่วยทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

เรียกได้ว่าในปี 2024 นี้ ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยผู้บริหารในไทยถึง 74% ระบุว่าไม่ต้องการจ้างคนที่ไม่มีทักษะด้าน AI อีกต่อไป ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% และหากต้องเลือกระหว่างทักษะกับประสบการณ์ ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็พร้อมจะจ้างผู้สมัครที่มีทักษะการทำงานกับ AI แม้จะมีประสบการณ์ในสายอาชีพน้อยกว่า สวนทางกับคนที่ไม่มีทักษะ AI แม้จะมีประสบการณ์มากกว่าก็ตาม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 71% สะท้อนให้เห็นความสำคัญของทักษะแห่งอนาคต ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าประสบการณ์การทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต

นอกจากทักษะด้าน AI จะเป็นที่ต้องการของผู้จ้างงานแล้ว ทักษะนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสมการในตลาดแรงงานอีกด้วย จากการสำรวจยังพบว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% กังวลว่าจะเผชิญสภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ ในสาขาที่คาดว่าจะขาดแคลนมากที่สุด ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

การเติบโตขึ้นของ AI ยังได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้สมัครงานอีกด้วย ข้อมูลจาก LinkedIn พบว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้ LinkedIn ทั่วโลกที่เพิ่มทักษะ AI อย่าง ChatGPT หรือ Copilot ลงในเรซูเม่ เพิ่มขึ้นมากถึง 142 เท่า และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่งงานที่ระบุทักษะ AI จะได้รับผู้สมัครเข้ามาเพิ่มขึ้นถึง 17% โดย 10 อันดับตำแหน่งงานที่มีการระบุทักษะ AI มากที่สุด มีเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้นที่เป็นสายเทคโนโลยีโดยตรง ที่เหลือจะอยู่ในหลากหลายสาขา เช่น การตลาด กราฟฟิกดีไซน์ หรือการเขียนคอนเทนต์ แสดงให้เห็นว่า AI ได้เข้ามาลบเส้นแบ่งระหว่างสายอาชีพไอทีและสายงานทั่วไปลง และกำลังกลายเป็นทักษะพื้นฐานใหม่ที่จำเป็นในทุกอาชีพ

สรุป

จากข้อมูล รายงาน Work Trend Index ฉบับปี 2024 ในเมื่อ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและชีวิตประจำวันของพนักงานมากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงควรวางเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนในการนำ AI มาปรับใช้ในองค์กร โดยเฉพาะการใช้ AI เป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่พนักงานกำลังเผชิญอยู่ พร้อมกันนี้ ผู้บริหารจะต้องเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้าน AI ของบุคลากรในทุกระดับ จัดหาเครื่องมือและนโยบายการใช้งานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงดึงพนักงานทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการใช้

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน