Whoscall เปิดตัว Scam Alert ร่วมมือ 11 องค์กรชั้นนำสร้างเกราะป้องกันมิจฉาชีพ

Whoscall ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น เปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert ร่วมกับ 11 องค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงแห่งแรกในไทย พร้อมให้บริการฟรีบนแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ที่กำลังระบาดหนัก

ในยุคดิจิทัลที่การหลอกลวงออนไลน์กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้ว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงกรกฎาคม 2567 ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก องค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 2567 ยังพบว่ามีคนไทยเพียง 55% ที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหากับภัยหลอกลวงออนไลน์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเตือนภัยและการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของบริษัทโกโกลุก ที่พร้อมจะนำเสนอเครื่องมือป้องกันมิจฉาชีพที่ครอบคลุมสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ”

การเปิดตัวฟีเจอร์ ScamAlert ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Whoscall ในการพัฒนาโซลูชันป้องกันการหลอกลวงแบบครบวงจร แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยมั่นคง ปราศจากการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า “อาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่รวมถึงภาครัฐและธุรกิจด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ของประเทศ”

ฟีเจอร์ ScamAlert บน Whoscall ประกอบด้วยบริการหลัก 2 ส่วน ได้แก่

  1. เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) – ผู้ใช้งานสามารถเปิดการแจ้งเตือนอัตโนมัติเพื่อรับข้อมูลแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วน เช่น การแอบอ้างหน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายขนาดใหญ่ และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจากองค์กรภาครัฐ
  2. เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) – แพลตฟอร์มรวมความรู้เกี่ยวกับกลวิธีการหลอกลวงและเคล็ดลับการป้องกันต่างๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลวงด้านการลงทุน การหลอกลวงการชำระบิล การหลอกลวงในการซื้อของ และการหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ Whoscall ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น Auto Web Checker ที่ช่วยป้องกันการคลิกลิงก์ฟิชชิ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ และ ID Security ที่ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ภาครัฐและเอกชนพัฒนาขึ้นเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหามิจฉาชีพ เช่น การแจ้งความดำเนินคดีที่ศูนย์ AOC 1441 หรือ thaipolice.go.th หรือผ่านทางเว็บไซต์ตำรวจสอบสวนกลางที่ https://www.cib.go.th/e-service รวมถึงการแจ้งเลขหมายที่เป็นมิจฉาชีพต่อ กสทช. ที่ 1200 โทรฟรี

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Whoscall และฟีเจอร์ Scam Alert ได้ที่ https://www.facebook.com/whoscall.thailand และดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall ได้ฟรีจาก App Store และ Google Play Store ที่ลิงก์ https://app.adjust.com/1fh6zchh

ติดตามข่าวสาร อัปเดตเทคโนโลยี รีวิวของใหม่ก่อนใคร ได้ทาง www.techoffside.com และ Google News
ช่องทางโซลเชียล Facebook, Instagram, YouTube และ TikTok

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน