อินเทล แยกบริษัท ผลิตชิป Inte Foundry

อดีตกรรมการบริษัท แนะให้ อินเทล แยกธุรกิจการผลิต ออกจากส่วนการออกแบบชิป เพื่อความอยู่รอด

อดีตกรรมการบริหาร 4 ท่านของ อินเทล (Intel) ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัท แยกธุรกิจ การผลิตออกจากส่วนการออกแบบชิป โดยระบุว่านี่คือทางรอดเดียวของบริษัท พร้อมเสนอให้รัฐบาลสหรัฐใช้เงินสนับสนุนกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นแรงกดดันให้เกิดการแยกธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทายด้านการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ข้อเสนอนี้มาจาก เดวิด ยอฟฟี่, รีด ฮันดท์, ชาร์ลีน บาร์เชฟสกี้ และ จิม พลัมเมอร์ อดีตกรรมการบริษัท ซึ่งได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Fortune โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา อินเทลประสบภาวะขาดทุนกว่า 5.87 พันล้านดอลลาร์ และสูญเสียมูลค่าตลาดไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกลยุทธ์ IDM 2.0 ในการพัฒนาบริษัทให้เป็นทั้งผู้ออกแบบและผู้ผลิตชิป

อดีตกรรมการทั้ง 4 ท่านเน้นย้ำความสำคัญของโรงงานผลิต วิศวกร และทรัพย์สินทางปัญญาของอินเทลต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าอินเทลเป็นบริษัทอเมริกันเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตชิปเซมิคอนดัคเตอร์ขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม การพึ่งพา บริษัท TSMC ของไต้หวันมากเกินไป อาจสร้างความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม อินเทลกำลังประสบปัญหาในการแข่งขันกับ TSMC โดยสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง นอกจากนี้ บริษัทผู้ออกแบบชิปรายใหญ่อย่าง Broadcom, NVIDIA และ Qualcomm ยังลังเลที่จะใช้บริการ Intel Foundry เนื่องจากเป็นคู่แข่งโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ Samsung Foundry กำลังเผชิญ

อดีตกรรมการเสนอให้แยกธุรกิจออกเป็นสองส่วน คล้ายกับที่ AMD ทำในปี 2009 เมื่อแยกตัวสร้าง GlobalFoundries โดยหน่วยงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของอินเทลจะต้องทำสัญญาจัดหาระยะยาวกับโรงงานผลิตอิสระแห่งใหม่ พวกเขาเชื่อว่าการจัดการเช่นนี้จะช่วยให้ธุรกิจโรงงานผลิตมีเสถียรภาพในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่จะสามารถรับงานจากบริษัทภายนอกได้

รัฐบาลสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญผ่าน CHIPS Act ที่จัดสรรเงิน 39 พันล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ รวมถึงเงินอุดหนุนสูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์และเงินกู้ 11.5 พันล้านดอลลาร์สำหรับอินเทล อย่างไรก็ตาม อดีตกรรมการกังวลว่าการบริหารจัดการที่ผิดพลาดอาจทำให้เกิดความล้มเหลวเช่นเดียวกับกรณีของ บริษัท Solyndra

แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือกรณีของ GlobalFoundries ที่แม้จะมีลูกค้าหลากหลาย แต่ก็แทบจะไม่เคยทำกำไรก่อนการเสนอขายหุ้น IPO และต้องยุติการพัฒนาโหนดขั้นสูงในปี 2018 เพื่อลดการขาดทุน โดย บริษัท Mubadala ซึ่งควบคุม GlobalFoundries ส่วนใหญ่ สูญเสียเงินกว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2009 ถึง 2021

ข้อมูลจาก TomsHardware

ติดตามข่าวสาร อัปเดตเทคโนโลยี รีวิวของใหม่ก่อนใคร ได้ทาง www.techoffside.com และ Google News
ช่องทางโซลเชียล Facebook, Instagram, YouTube และ TikTok

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน