นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ค้นพบแบคทีเรียชนิดใหม่ในน้ำเสียที่สามารถย่อยสลายพลาสติก PET (polyethylene terephthalate) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถย่อยพลาสติกให้กลายเป็นชิ้นเล็กๆ และใช้คาร์บอนจากพลาสติกเป็นแหล่งอาหาร การค้นพบนี้อาจเป็นทางออกใหม่ในการจัดการปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่กำลังเป็นวิกฤติระดับโลก
ดร.ลุดมิลลา อริสทิลด์ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์อย่างเป็นระบบว่า แบคทีเรียในน้ำเสียสามารถย่อยสลายพลาสติกตั้งต้นให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และใช้เป็นแหล่งคาร์บอนได้ ซึ่งกระบวนการนี้เกิดจากเอนไซม์สำคัญที่ทีมวิจัยค้นพบ และอาจนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อกำจัดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้
แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า Comamonas testosteri พบได้ในแหล่งน้ำในเมืองและน้ำเสีย แม้ว่าแบคทีเรียชนิดนี้จะทำหน้าที่ย่อยสลายพลาสติกมานานแล้ว แต่บทบาทของมันเพิ่งได้รับการค้นพบในครั้งนี้ โดยกระบวนการย่อยสลายเริ่มจากการกัดพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายพลาสติกให้กลายเป็นโมเลกุลเล็กลง ทำให้แบคทีเรียสามารถดูดซึมอะตอมคาร์บอนไปใช้เป็นสารอาหารได้
ทีมวิจัยได้ทดลองโดยแยกเชื้อแบคทีเรียจากน้ำเสียและเลี้ยงในห้องปฏิบัติการบนวัสดุ PET เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ พวกเขาใช้กล้องจุลทรรศน์ขั้นสูงในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวของวัสดุพลาสติก และวิเคราะห์น้ำโดยรอบเพื่อหาหลักฐานการย่อยสลายพลาสติกและการเกิดไมโครพลาสติก
การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก PET คิดเป็น 12% ของพลาสติกที่ใช้งานทั้งหมด และ 50% ของไมโครพลาสติกในน้ำเสีย อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากและทนทานต่อการเสื่อมสภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดเครื่องดื่ม เมื่อถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม มันสามารถคงอยู่ได้นานหลายทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและปนเปื้อนแหล่งน้ำ
ข้อมูลจาก: Interesting Engineering
ติดตามข่าวสาร อัปเดตเทคโนโลยี รีวิวของใหม่ก่อนใคร ได้ทาง www.techoffside.com และ Google News
ช่องทางโซลเชียล Facebook, Instagram, YouTube และ TikTok